พระพิฆเนศ .
กรุงเทพมหานคร


-    

-  

-

-

พระคเณศ (สันสกฤตगणेशทมิฬபிள்ளையார்) ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ[1] (विघ्नेश) พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศ หรือ พระคณปติ[2] เป็นเทพในศาสนาฮินดู นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)

 

 

พระพิฆเนศกับสังคมไทย[แก้]

 
พระพิฆเนศเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย

ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการบูชาเทพองค์ต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์อยู่มากมาย รวมทั้งองค์พระพิฆเณศ ซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ดูได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเณศในเทวสถานตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย โดยมีหลักฐานการค้นพบองค์เทวรูปบูชาพระพิฆเณศที่เก่าแก่ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้นว่าองค์เทวรูปบูชานั้นสลักจากหิน ค้นพบทางแถบจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ

คนไทยถือว่าองค์พระพิฆเนศวรเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ โดยคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรให้เป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ได้สถาปนาพระพิฆเนศวร เป็นเทพพระองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีใด ๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป กิจการทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี หน่วยงานราชการกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้ถือเอาพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์

พระพิฆเนศวรเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่ปารวตี มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง ทุกคนเคารพนับถือท่านในฐานะที่ท่านเป็น "วิฆเนศ" นั่นคือ เจ้า (อิศ) แห่งอุปสรรค (วิฆณ) เพราะเจ้าแห่งอุปสรรค ที่สามารถปลดปล่อยอุปสรรคได้ และอีกความหมายถึง ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จในทุกศาสตร์สรรพสิ่งหรือเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่ทั้งปวง เมื่อพิจารณาความหมายในทางสัญญะ รูปกายที่อ้วนพีนั้นมีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์ เศียรที่เป็นช้างมีความหมาย หมายถึงผู้มีปัญญามาก ตาที่เล็กคือ สามารถมอง แยกแยะสิ่งถูกผิด หูและจมูกที่ใหญ่หมายถึง มีสัมผัสพิจารณา ที่ดีเลิศ พระพิฆเนศวรมีหนูเป็นสหาย (บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพาหนะ) ซึ่งอาจเปรียบได้กับความคิด ที่พุ่งพล่าน รวดเร็ว ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีปัญญากำกับเป็นดั่งเจ้านายในใจตน

ลักษณะของพระพิฆเนศวร[แก้]

มีรูปกายเป็นมนุษย์เพศชายอ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือ ตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) หนู นับเป็นสหายของพระพิฆเนศวร ไม่ใช่เป็นพาหนะ

ปกรณัม[แก้]

ในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตีเนื่องจากอยู่องค์เดียวเลยเกิดความเหงา และประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอกที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวายในพระตำหนักใน

จึงทรงเสกเด็กขึ้นมาเพื่อเป็นพระโอรสที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวเทพ เสด็จออกไปตามพระกิจต่าง ๆ มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้น องค์ศิวเทพได้กลับมาและเมื่อจะเข้าไปด้านในก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใครและในลักษณะเดียวกัน ศิวเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่มนั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา

เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธและตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้พลาง ถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใครเพราะตนกำลังทำตามบัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตกในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้นก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจ และศีรษะก็ถูกตัดหายไป

ในขณะนั้นเองพระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาลก็เสด็จออกมาด้านนอกและถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรสที่ปราศจากศีรษะ และเมื่อได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง

เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้นองค์มหาเทพก็ตรัสว่าจะทำให้เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่งกระวนกระวายใจเนื่องจากหากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นพระศิวะเลยโยนตรีศูลอาวุธของพระองค์ออกไปหาศีรษะสิ่งที่มีชีวิตแรกที่พบมาและปรากฏว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมา ซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อให้และชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่องให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานนามว่า "พระพิฆเนศวร" ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรค และยังทรงให้พรว่าในการประกอบพิธีการต่าง ๆ ทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวรก่อนเพื่อความสำเร็จของพิธีนั้น

เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่น ๆ นั้น ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้

  1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
  2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
  3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
  4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล
  5. หระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง
  6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก
  7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์มหาภารตะให้ฤๅษีวยาสและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละ
  8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
  9. ขนมโมทกะ หรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น ๆ
  10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา
  11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ
  12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

เทศกาลคเณศจตุรถี[แก้]

 
การอุ้มเทวรูปพระพิฆเนศลงน้ำที่เมืองมุมไบ ในเทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพันองค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล

เทศกาลคเณศจตุรถีและพิธีกรรมต่าง ๆ กระทำกันมาแต่โบราณ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมที่กระทำกันก็คือ "เอกวีสติ ปัตรบูชา" หรือการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิดเป็นเวลา 21 วัน[3]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ในปี ค.ศ. 2010 ค่าย Shemaroo Entertainmant ได้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันอินเดีย เรื่อง Bal Ganesh หรือในชื่อภาษาไทยว่า พระพิฆเนศ มหาเทพแห่งปัญญา ถึง 2 ภาค

อ้างอิง[แก้]

  1. กระโดดขึ้น ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 834
  2. กระโดดขึ้น พิฆเนศ ตามพจนานุกรม
  3. กระโดดขึ้น เทศกาลคเณศจตุรถี จากสนุกดอตคอม

 

https://th.wikipedia.org

586


วัตถุมงคลของท่าน



รวมพระ-วิกิ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลและรูปภาพที่ได้นำเสนอนี้จะเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สะสม ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และขอกราบขอบพระคุณเพื่อนนักสะสมที่ได้อนุเคราะห์ให้ข้อมูลและรูปภาพแก่ทางเรา ทั้งนี้อาจมีรูปภาพบางภาพที่นำมาใช้ โดยที่ยังมิได้แจ้งเจ้าของภาพเพื่อขออณุญาตล่วงหน้า จึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อขออภัยและขออณุญาตนำรูปภาพของท่านมาเผยแพร่ภายในในเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ นักสะสมท่านอื่นๆ ต่อไป

หากท่านต้องการติดต่อเพื่อให้ข้อมูลพระ หรือพบเห็นข้อความหรือรูปภาพที่ไม่ถูกต้อง ท่านสามารถแจ้งข้อมูล ได้ที่ www.ruampra.com/wiki/aboutwiki.aspx